หลักการทำงานของเซนเซอร์แบบเหนี่ยวนำ
บริเวณส่วนหัวของเซนเซอร์จะมีสนามแม่เหล็กซึ่งมีความถี่สูง โดยได้รับสัญญาณมาจากวงจรกำเนิดความถี่ ในกรณีที่มีวัตถุหรือชิ้นงานที่เป็นโลหะเข้ามาอยู่ในบริเวณที่สนามแม่เหล็กสามารถส่งไปถึง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าความเหนี่ยวนำ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการหน่วงออสซิลเลท(oscilate)ลดลงไป หรือบางทีอาจถึงจุดที่หยุดการออสซิลเลท และเมื่อนำเอาวัตถุนั้นออกจากบริเวณตรวจจับ วงจรกำเนิดคลื่นความถี่ก็เริ่มต้นการออสซิลเลทใหม่อีกครั้งหนึ่ง สภาวะดังกล่าวในข้างต้นจะถูกแยกแยะได้ด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายใน หลังจากนั้นก็จะส่งผลไปยังเอาต์พุตว่าให้ทำงานหรือไม่ทำงาน โดยทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดของเอาต์พุตว่าเป็นแบบใด เพื่อเป็นการลดจินตนาการในการทำความเข้าใจการทำงานของเซนเซอร์ชนิดนี้จึงขอแสดงด้วยรูปต่อไปนี้
ส่วนประกอบหลักของเซนเซอร์แบบเหนี่ยวนำ คือ
(1) วงจรกำเนิดคลื่นความถี่สูง (Oscillator)
(2) วงจรหรือส่วนของการประมวลผล (Evaluator)
(3) วงจรแยกสภาวะและสั่งงาน (Trigger)
(4) หลอดไฟแสดงสภาวะในการทำงาน (Status Display)
(5) วงจรขยายสัญญาณและป้องกันด้านเอาต์พุต (Output with protective circuit)
(6) แหล่งจ่ายแรงดันไฟฟ้าจากภายนอก (External voltage)
(7) วงจรรักษาระดับแรงดันภายในให้คงที่ (Internal constant voltage supply)
(8) ส่วนหรือพื้นที่ ที่ใช้ในการตรวจจับซึ่งมีขดลวดอยู่ภายใน (Active zone : coil)
(9) เอาต์พุตของเซนเซอร์ ซึ่งในที่นี้จะเป็นแบบทำงานหรือไม่ทำงาน (On-Off)